ถ่ายภาพได้คมชัดโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง



  • พยายามรักษาความเร็วชัตเตอร์ ดังนี้ เช่น คุณถ่ายภาพโดยใช้ความยาวโฟกัสที่ 50 มม. ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำที่สุดที่คุณจะใช้มือประคองกล้องเพื่อถ่ายรูป แล้วยังได้ภาพที่คมชัดอยู่คือ 1/50 วินาที ดังนั้นคอยหมั่นตรวจสอบความเร็วชัตเตอร์ หากเร็วไม่พอ ให้ลองเพิ่มขนาดรูรับแสงดูก่อน ถ้าเพิ่มจนกว้างสุดแล้ว ยังไม่ได้อีก ให้ค่อยๆเพิ่มค่า ISO ด้วยหลักการนี้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสั้น เช่น 10 มม. ก็จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดที่ 1/10 วินาที ซึ่งค่อนข้างต่ำ ในทางกลับกัน หากคุณใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสมากๆ เช่น 200 มม. ความเร็วต่ำสุดจะเป็น 1/200 วินาที ซึ่งบางครั้งทำได้ค่อนข้างยากหากถ่ายรูปในสภาพแสงน้อย
  • เลือกใช้เลนส์ที่มีระบบกันสั่น เช่น IS หรือ VR ก็จะช่วยได้มากในสภาพแสงน้อยๆ
  • ถือกล้องให้มั่นคง โดยใช้สองมือประคองกล้องให้มั่นคง และถ้าเป็นไปได้ข้อศอกของช่างภาพควรจะหนีบชิดกับลำตัว เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กล้องถ่ายรูป ไม่ควรถือกล้องมือเดียว เพราะโอกาสที่จะได้ภาพที่สั่นไหวมีสูง
  • กลั้นหายใจขณะกดชัตเตอร์ เพื่อลดการสั่นไหวอีกระดับ
  • ใช้แบตเตอรี่กริ๊ป โดยเจ้าอุปกรณ์เสริมตัวนี้นอกจากจะทำให้สามารถใส่แบตเตอรี่ได้ 2 ก้อนแล้ว ยังมีปุ่มชัตเตอร์เพิ่มขึ้นมาสำหรับการถ่ายภาพในแนวตั้ง ทำให้ข้อศอกยังสามารถชิดลำตัวได้อยู่ และยังช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กล้องที่สามารถช่วยลดการสั่นไหวของมือช่างภาพได้ อีกด้วย
  • หาที่พิง เช่น กรณีถ่ายภาพในห้อง หรือ ริมกำแพง หรือมีเสาแถวนั้น หากความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ให้คุณพิงกับสิ่งเหล่านั้น จะพอช่วยลดการสั่นไหวได้
  • หาที่วางกล้อง ถ้ามีโต๊ะ หรือ พื้นที่ผิวเรียบ ที่สามารถวางกล้องได้ ก็วางกล้องแล้วตั้งเวลาหรือใช้สายลั่นชัตเตอร์ถ่ายรูป เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด
  • ใช้แฟลชช่วย โดยแฟลชจะช่วยหยุดการเคลื่อนไหวในสภาพแสงน้อยได้ หากใช้ได้ ใช้เลยครับ
  • หมั่นตรวจสอบความคมชัดของภาพ โดยการซูม 100% ที่จอ LCD หลังกล้องเป็นระยะ เช่น ถ่ายภาพบุคคล ก็ซูม 100% แล้วเช็คดูว่าตาของแบบคมชัดหรือไม่ ถ้าไม่ชัดจะได้ถ่ายใหม่ทัน การมองภาพโดยไม่ซูมนั้น เราจะไม่สามารถบอกได้ว่าภาพชัดจริงหรือไม่ เพราะจอ LCD นั้นมีขนาดเล็ก ดูอะไรก็ชัดไปหมด แต่พอกลับบ้านมาดูในจอคอมพิวเตอร์อาจจะผิดหวังก็ได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น